
เวชศาสตร์ครอบครัว กับการดูแลสุขภาพทุกช่วงวัย
“แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” หรือ แพทย์ประจำครอบครัว คือแพทย์ที่ไม่ดูแลคนไข้แค่อย่างเดียว แต่รู้ประวัติ ความเสี่ยงของคนไข้ทั้งครอบครัว ให้การดูแลครอบคลุมตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค หากเกิดโรคจะดูแลรักษาโรคเรื้อรังตามช่วงอายุของสมาชิกแต่ละคน ดูแลจนไปถึงผู้ป่วยเข้าวัยชราและจนถึงผู้ป่วยระยะท้าย
ทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเริ่มดูแลเราตั้งแต่วัยแรกเกิด และดูแลอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย
วัยแรกเกิด (0-2 ปี)
- ตรวจพัฒนาการและการเจริญเติบโต รวมถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุที่เหมาะสม
วัยเด็ก (3-9 ปี)
เมื่ออายุเข้า 3 ขวบ เด็กควรได้รับการตรวจพัฒนาการเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม
- ตรวจประเมินสุขภาพโดยรวม
- ประเมินประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวเพื่อดูความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อเด็ก
วัยรุ่น (10-20 ปี)
ช่วงเวลาสำคัญในการสร้างรากฐานพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้ต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์
- ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและสุขภาพทางเพศ รวมถึงการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ตรวจประเมินสุขภาพจิตและพฤติกรรมการกิน
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อรักษาสุขภาพที่ดี
วัยทำงาน (21-39 ปี)
ช่วงเวลาที่หลายคนทำงานหนักจนละเลยการดูแลสุขภาพ พฤติกรรมในช่วงเวลานี้อาจเป็นตัวกำหนดสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น
- ตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจไขมันในเลือด ตรวจดัชนีมวลกาย (BMI)
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคอ้วน
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเครียด การดูแลสุขภาพจิต และอันตรายของการใช้สารเสพติด
- ตรวจประเมินความเครียดและประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากในอนาคต
- ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยตรวจแปปสเมียร์ทุกปีตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป
- ตรวจสุขภาพปากและฟันทุกปี และตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ
วัยก่อนเกษียณ (40-60 ปี)
- ควรรับการตรวจประเมินโรคมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต คอเลสเตอรอลสูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม
- ผู้หญิงควรตรวจแมมโมแกรมหามะเร็งเต้านมและตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
- เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจมะเร็งลำไส้ แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจเร็วขึ้น
- เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัญหาเกี่ยวการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือความผิดปกติในการปัสสาวะที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมาก
วัยสูงอายุ (อายุ 61 ปีขึ้นไป)
- ตรวจโรคต่างๆ ที่ตรวจในวัยก่อนเกษียณและยังคงมีความเสี่ยงสูงในวัยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง
- ตรวจสุขภาพตาและการมองเห็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคทางสายตาที่จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น
- ตรวจการได้ยิน
- ตรวจกระดูกและข้อต่อ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการหกล้มกระดูกหัก
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคจากการติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคปอดบวม โรคงูสวัด
ในแต่ละช่วงชีวิตมีการดูแลสุขภาพที่ควรเน้นความสำคัญแตกต่างกันไป เน้นสร้างความเข้าใจ เอาใส่ใจอย่างรอบด้าน เพื่อปรับการดูแลรักษาและป้องกันโรคให้เหมาะสมที่สุด